การโค้ชตนเอง (self-coaching)
- moral school
- Mar 29
- 1 min read
ครูโค้ชต้องโค้ชตนเองเป็น
การโค้ชตนเอง (self-coaching) เป็นทักษะสำคัญของการฝึกโค้ช เพื่อสร้างประสบการณ์ในการสำรวจตัวตน ผ่านการสำรวจความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ของตนเอง ซึ่งนอกจะเกิดประโยชน์ต่อการเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งแล้ว ยังช่วยเกิดความตระหนักรู้ และสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราเท่านั้นที่จะเข้าใจตัวเราและมีสิทธิที่จะเข้าถึงเบื้องลึกของความเป็นตัวตน (being) ได้ดีที่สุด
การโค้ชตนเองทำอย่างไร
การโค้ชตนเองมีหลากหลายระดับ ประเด็น และเทคนิค วันนี้จะขอนำเทคนิคการโค้ชเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการทำ journaling มาแลกเปลี่ยนกันครับ
1. เริ่มจากหาสถานที่ มุมสงบ และจัดเวลาที่เหมาะสมไม่มีสิ่งใดรบกวนจิตใจ พร้อมเตรียมอุปกรณ็ เช่น กระดาษ ปากกา ไว้จดความคิดความรู้สึก
2. การผ่อนคลายร่างกาย และปรับจังหวะการหายใจ ให้ช้าลง เพื่อให้อยู่ในภาวะเบาสบาย
3. เริ่มสำรวจ โดยตั้งคำถามว่าอะไรคือ สิ่งที่เราต้องการบรรลุหรือทำให้สำเร็จ (เพียง 1 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ความรัก สุขภาพ การเงิน ครอบครัว หรืออื่นๆ) พร้อมเหตุผลว่า มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของเรา จากนั้นให้พยายามปรับปรุงให้เป้าหมายนั้น กระชับและเจาะจง เป็นสิ่งที่วัด จับต้องได้ ภายในกำหนดเวลาที่ชัดเจน พร้อมจดทั้งหมดลงในกระดาษ
4. จากนั้นค่อยๆ ไล่เรียง สำรวจด้วย คำถามในรูปแบบ GROW model เป้าหมาย ความจริง ทางเลือก และวิธีการ (สามารถศึกษาได้จากแหล่งอื่น) โดยสำรวจแบบกระบวนการคู่ขนาน คือ เมื่อตอบคำถามแล้ว ให้เราสังเกต ความรู้สึก ความคิด ของเราต่อคำตอบที่เราคิดขึ้น (คิดช้าๆ คิดอะไรได้แล้วเขียน) คำถามในช่วงใดที่เราพบว่า เราอยากค้นคว้าความรู้ หรือข้อมูลจากภายนอกเพิ่ม เราก็จดเอาไว้ เมื่อถามจนพบวิธีการที่เราพอใจว่าน่าจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ ก็ให้จดทุกอย่างที่เป็น ผลผลิตจากความคิดเราไว้ โดยเฉพาะการจดรายละเอียดของขั้นตอนที่เราจะลงมือทำ ทำอะไรบ้าง จะทำอย่างไร จะทำร่วมกับใคร จะทำที่ไหร่ ทำเมื่อไหร่ เป็นต้น
5. การลงมือทำตามแผนการในข้อ 4 ให้ลงมือจดรายละเอียด สิ่งที่ทำ ผลที่เกิด ความรู้สึก และความคิด ต่อสิ่งที่ทำนั้นทุกครั้ง (อาจจะเป็นทุกวัน ทุกสัปดาห์แล้วแต่ความถี่ของเรื่องที่ทำ) โดยเรียกเทคนิคในขั้นตอนนี้ว่า journaling
6. เมื่อผ่านการลงมือทำไปสักระยะ ให้นำเอกสารที่จด (journaling) มาอ่าน และที่สำคัญ พยายามสำรวจความเชื่อมโยงของ การกระทำ ความรู้สึก ความคิด ของเราในแต่ละครั้งว่า มีรูปแบบ (pattern) มีการเปลี่ยนแปลง (dynamic) ไปอย่างไร ข้อคิดที่ได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับตนเอง และสิ่งที่อยากปรับปรุง
7. ทำขั้นตอนที่ 5-6 ซำ้ สังเกตการเปลี่ยนแปลงตนเอง เปรียบเทียบกับเป้าหมายที่กำหนด
8. ทบทวนว่าเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตนเองบ้าง ความสำเร็จ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และชื่นชมตนเอง ให้รางวัลกับตนเอง
คนที่จะโค้ชตนเองต้องมีชุดความคิดอย่างไร
1. การสังเกตตนเองอย่างมีสติ (consciously observing oneself) พฤติกรรม ความรู้สึก ความคิด และความเชื่อ ของเรา อยู่กับตัวเรา แต่เพราะ ทั่วไปเราสร้างการกระทำ อย่างแบบอัตโนมัติจึงไม่ต้องคิด (system 1 thinking) เราจึงแทบไม่ได้สังเกตว่า เราทำอะไรลงไป รู้สึกอย่างไร เมื่อเราต้องสำรวจตนเอง เราจึงต้องฝึกสังเกตตนเอง เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เรารู้สึกอย่างไร มีความคิดอย่างไร และเมื่อคิดแบบนั้นเราจึงทำอะไรลงไป
2. การไม่ตัดสิน (non judgment) การสังเกตตนเอง โดยไม่ตัดสินว่า สิ่งนั้นดีหรือไม่ดี (แค่รู้) เพราะการสังเกตตนเองอาจทำให้เราพบว่า เรามีนิสัย มีความคิดหลายอย่างอย่างที่เราอยากปกปิด และรู้สึกตำหนิตนเอง หรืออีกทางเราเองก็อาจจะภูมิใจตนเองตน ชอบและรักความคิดบางเรื่องมาก การไม่ตัดสิน ช่วยให้เรารับรู้ตัวตนที่เป็นจริง มากกว่าจะรับรู้เพราะมีอคติ หรือหลงไหล
การโค้ชตนเอง เป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานสูง อาจทำให้เหนื่อยในช่วงแรก เพราะต้องตอบคำถามตนเองในเรื่องที่เราไม่ค่อยได้ตอบ
อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น มีประโยชน์สูงมาก ทั้งการช่วยทำให้เข้าใจตนเอง เข้าใจความหมายของชีวิต การทำให้การใช้ชีวิตแต่ละวันเต็มไปด้วยพลัง สร้างความภาคภูมิใจ และความเชื่อมมั่นให้ตนเองในการดำรงชีวิต มองเห็น เข้าใจ สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
ความรู้นี้แม้ไม่ซับซ้อน แต่จะเข้าใจเมื่อได้ลงมือทำ
Knowledge = action
ส่งกำลังใจ เปลี่ยนจากครูสอน สู่การเป็นครูโค้ช
หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ สามารถ กด link comment และ share เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง ของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เปลี่ยนครูสอน สู่ครูโค้ช ได้ครับ

Comentários