ห้องเรียนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ถามตอบ ลงมือทำกิจกรรมอย่างสนุก คงเป็นห้องเรียนที่ครูทุกระดับชั้นอยากเห็น
คำถามที่แสนง่าย คือ แล้วคุณครูจะทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเต็มไปด้วยความสุขได้อย่างไร?
6 สิ่งที่ครูทำได้เพื่อสร้างห้องเรียนแห่งความสุข
1. ครูและนักเรียน มีการคุยถึงความคาดหวังต่อผลลัพธ์และบรรยากาศการเรียนที่อยากเห็น
2. ครูและนักเรียนร่วมกันกำหนดกติกา มารยาทสำคัญในการเรียนเพื่อสร้างสุข และมาตรการรับผิดชอบเมื่อละเมิด เพื่อป้องกันทุกข์ เช่น กติกาการเข้าชั้นเรียน การมอบงานส่งงาน การแสดงความคิดเห็น การรับฟังผู้อื่น การพักเบรค เป็นต้น
3. ครูไม่บ่น ไม่บุลลี่ ไม่ใช้คำหยาบทำร้าย (แม้เจอพฤติกรรมแย่ๆ และอาจเจตนาดี) เริ่มจากการยอมรับพฤติกรรมที่แตกต่าง หากไม่ขัดกับกติกา (หากขัดต้องชี้ชวนให้นักเรียนได้ทราบและเรียนรู้ทำตามกติกา) คำแรงคำร้ายบาดใจ นักเรียนไม่ลืมเลือน
4. สรรหาและออกแบบกิจกรรมและวิธีการสอนที่น่าสนใจ ทำให้นักเรียนได้เล่น ได้จับ ได้คิด ได้พูด ได้หัวเราะ
5. ทำให้ผลงานที่ผิด บกพร่อง ไม่กลายเป็นเรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจ เป็นเรื่องที่ควรหยิบมาชวนคิด เรียนรู้ จะทำให้เกิดบรรยายกาศปลอดภัย ที่นักเรียนกล้าลองผิด
6. การจัดห้องเรียน ด้วยรูปแบบที่นั่ง สถานที่ที่ช่วยให้เกิดความร่วมมือ เช่น เก้าอี้วงกลม นั่งล้อมวง นำเสนอนั่งแบบตัวยู เปลี่ยนกระดานของครูเป็นกระดานของนักเรียน เปลี่ยนสถานที่เรียนรู้จากห้องสี่เหลี่ยมเป็นแบบอื่น สลับกัน
ครูโค้ชเป็นนักฟัง นักถาม นักชื่นชม และมีหัวใจที่ยอมรับนักเรียน
ผ่าน 4 คุณลักษณะพิเศษที่ทำให้ห้องเรียนแห่งความสุขเป็นจริงได้
1. ครูโค้ชต้องเชื่อมั่นอย่างที่สุดว่านักเรียนทุกคนมีศักยภาพ เพียงแค่ครูต้องดึงออกมา เริ่มจากคุณธรรมเมตตา เมื่อเมตตา สายตาและความคิดครูก็พร้อมจะให้อภัย อภัยแม้พฤติกรรมก้าวร้าว ไม่เหมาะสม ครูโค้ชไม่ตอบโต้สิ่งนั้นด้วยความโกรธและอัตตา (ego) เหมือนการสุมไฟ นักเรียนคนอื่นและห้องเรียนก็จะถูกแผดเผา ใครกันเล่าจะอยากเรียน ปลูกห้องเรียนแห่งความสุข ต้องปลูกด้วยรักเมตตา
2. ครูโค้ชจะสามารถได้ยินในสิ่งที่นักเรียนไม่ได้พูด และนั่นก็สำคัญมาก บางครั้งอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นจะปิดกั้นการเรียนรู้ ครูโค้ช (ครูสอน) ที่ฟังได้ลึกจะสังเกตได้
3. ครูโค้ชมีทักษะการทำตัวเองเป็นกระจก จึงสนับสนุนการรับฟัง และร่วมสร้างเป้าหมายและกติกาในการเรียนในห้อง เพราะกระจกทำหน้าที่สะท้อนความต้องการ ความคาดหวัง ความเชื่อของนักเรียนได้ดี ลดการนำความคิด ประสบการณ์ของครูมาเป็นตัวกรอง
4. ครูโค้ชสอนนักเรียนด้วยคำถาม และการชื่นชม การสอนด้วยคำถามลดความรู้สึกของนักเรียนว่าถูกตัดสิน ลดความกังวล ห้องเรียนจึงปลอดภัยและยิ้มได้แม้ตอบผิด
ครูสอน + ครูโค้ช เป็นบทบาทที่อยู่ในตัวคุณครูคนเดียวกัน เพียงสลับโหมดให้ถูกเวลา
ห้องเรียนแห่งความสุข นอกจากนักเรียนมีความสุข และเรียนรู้ได้ดีแล้ว
คุณครูเองก็จะมีความสุข เกิดความภูมิใจในวิชาชีพครู
ห้องเรียนแห่งความสุข ปลูกด้วยรักและเมตตา

Comments